top of page

ภาค 2 ตอนที่ 9 “มนุษย์ชื้น”

  • 18naturalmind
  • 10 พ.ค.
  • ยาว 1 นาที

Qigong and I The Series โดย : ป่าน


ชื่อ Ep.นี้อาจจะประหลาดพิกลสำหรับบางท่าน แต่สำหรับท่านที่พอจะทราบเกี่ยวกับการแพทย์แผนจีน คงจะไม่แปลกใจเท่าไหร่

 

เพราะ ‘ภาวะชื้น’ เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญมากในศาสตร์การแพทย์แผนจีน

 

สารภาพเลยว่า ตั้งแต่เกิดมาดิฉันก็เพิ่งเคยได้ยินนี่แหละ ว่าคนเรามีภาวะชื้นอยู่ภายในได้ด้วย และภาวะนี้ก็เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพมากมาย ถ้าไม่ได้มาเรียนชี่กงก็คงไม่มีทางรู้

 

พอดีว่าเมื่อต้นปี 2563 โรคโควิด-19 เริ่มระบาดหนักในไทย คลาสชี่กงทั้งที่สวนลุมพินีและโรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์สก็เลยต้องงดไปก่อน แต่เพื่อไม่ให้ขาดหายไปเลย อ.สุรศักดิ์จึงเปิดคลาสออนไลน์แทน โดยคัดวิชาที่เหมาะจะเรียนออนไลน์มาสอน ซึ่งวิชา แรกก็คือการแพทย์แผนจีน

 

นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ดิฉันได้รู้อะไรที่ไม่เคยรู้มาก่อน เป็นสิ่งที่ไม่มีหมอคนใดเคยบอก และไม่มีระบุไว้ในวิชาชีววิทยาที่ดิฉันเคยเรียนสมัยมัธยมด้วย

 

สิ่งที่ดิฉันไม่เคยรู้มาก่อนแต่เพิ่งจะมาเข้าใจหลังจากเรียนรู้การแพทย์แผนจีน ก็คือ ตัวเอง

 

ดิฉันเพิ่งรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ทำไมจึงเป็นโรคต่างๆ ที่เป็นอยู่ ระบบร่างกายดิฉันไม่เหมือนคนอื่นตรงไหน จึงทำให้เกิดโรคแบบที่เกิดกับดิฉันได้

 

ความรู้สึกมันเหมือนกับว่า...อยากจะตบเข่าฉาดแล้วร้อง “อย่างนี้นี่เอ๊ง!!” ตอนที่ได้เรียน ‘ทฤษฎีปัญจธาตุ’ ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน

 

‘ทฤษฎีปัญจธาตุ’ นั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นการวิเคราะห์ลงไปในองค์ประกอบของทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งร่างกายมนุษย์ ว่าประกอบด้วย 5 ธาตุ (ปัญจ แปลว่า 5) ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุทอง ธาตุน้ำ ธาตุไม้ ธาตุไฟ

 

สำหรับร่างกายมนุษย์ แต่ละธาตุจะบ่งบอกลักษณะตามธรรมชาติของระบบต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งมีอยู่ 5 ระบบ

 

ธาตุดิน คือระบบม้าม

 

ธาตุทอง คือระบบปอด 

 

ธาตุน้ำ คือระบบไต

 

ธาตุไม้ คือระบบตับ

 

ธาตุไฟ คือระบบหัวใจ

 

ธาตุทั้ง 5 ไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่มีความสัมพันธ์กันตลอดเวลา ใน 2 รูปแบบ

 

รูปแบบหนึ่ง คือการ ‘ก่อกำเนิด’ หมายถึงสร้างหรือทำให้เกิดมีขึ้น ได้แก่ ดินก่อกำเนิดทอง ทองก่อกำเนิดน้ำ น้ำก่อกำเนิดไม้ ไม้ก่อกำเนิดไฟ ไฟก่อกำเนิดดิน

 

อีกรูปแบบหนึ่ง คือการ ‘ข่ม’ หมายถึงปราบหรือยับยั้งให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ได้แก่ ดินข่มน้ำ น้ำข่มไฟ ไฟข่มทอง ทองข่มไม้ ไม้ข่มดิน

 

เวลาทำความเข้าใจเรื่องนี้ ดิฉันจะชอบนึกเป็นภาพว่า...

 

ดิน เมื่อทับถมผ่านกาลเวลาและกระบวนการทางธรณีวิทยาต่างๆ ก็จะกลายเป็นโลหะธรรมชาติ นั่นคือ ดินก่อกำเนิดทอง

 

เมื่อทองหลอมละลาย ก็กลายเป็นของเหลว นั่นคือ ทองก่อกำเนิดน้ำ

 

ต้นไม้จะเติบโตเมื่อได้น้ำ นั่นคือ น้ำก่อกำเนิดไม้

 

เมื่อไม้เสียดสีกัน จะเกิดไฟ นั่นคือ ไม้ก่อกำเนิดไฟ

 

เมื่อไฟไหม้ สิ่งที่เหลืออยู่คือดิน นั่นคือ ไฟก่อกำเนิดดิน

 

ถ้าเอาดินไปถมลำธาร น้ำในลำธารจะไหลไม่สะดวก นั่นคือ ดินข่มน้ำ

 

เมื่อสาดน้ำใส่กองไฟ ไฟก็ดับ นั่นคือ น้ำข่มไฟ

 

เมื่อเอาไฟเผาทอง ทองจะละลาย นั่นคือ ไฟข่มทอง

 

ทองเป็นโลหะสามารถตัดไม้ได้ นั่นคือ ทองข่มไม้

 

ถ้าต้นไม้ดูดแร่ธาตุจากดินมากเกินไป ดินก็จะเสื่อมสภาพ นั่นคือ ไม้ข่มดิน

 

สำหรับความสัมพันธ์แบบก่อกำเนิด เขามักจะเรียกกันว่าเป็นความสัมพันธ์แบบ ‘แม่กับลูก’ คือธาตุที่เป็นแม่ให้กำเนิดธาตุที่เป็นลูก

 

ส่วนความสัมพันธ์แบบข่ม ดิฉันนึกถึงความสัมพันธ์แบบ ‘อาจารย์กับศิษย์’ คืออาจารย์จะคอยกำราบศิษย์ที่ดื้อและบ้าพลังเกินควร

 

ระบบทั้ง 5 ในร่างกายมนุษย์ ดำรงอยู่ได้และดำเนินไปด้วยความสัมพันธ์ทั้ง 2 แบบนี้

 

ถ้าระบบที่เป็นแม่อ่อนแอ ระบบที่เป็นลูกก็จะอ่อนแอไปด้วย แล้วทั้งแม่ทั้งลูกก็จะไม่สามารถทำหน้าที่อาจารย์ในการกำราบศิษย์ได้เลย

 

คราวนี้อะไรจะเกิดขึ้น ก็รวนทั้งร่างไงล่ะ พังสิคะรออะไร

 

ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาความพังของตัวเอง ก็ต้องดูว่าระบบไหนพังสุด แล้วสืบย้อนขึ้นไปถึงต้นตอเลยว่า ใครเป็นแม่ ใครเป็นลูก ใครเป็นยาย ใครเป็นอาจารย์เป็นศิษย์ของมันบ้าง

 

ซึ่งดิฉันสืบได้แล้วดังที่ตั้งชื่อ Ep.นี้ไว้นั่นแหละ

 

ดิฉันเป็น 'มนุษย์ชื้น' อันเกิดจากระบบม้ามพัง

 

ตั้งแต่ Ep.หน้าเป็นต้นไป ดิฉันจะใช้ทฤษฎีปัญจธาตุสืบสวนย้อนรอยโรคภัยไข้เจ็บของตัวเอง ย้อนไปไม่นานหรอก แค่ตั้งแต่เกิดเท่านั้น ฮ่าๆๆ

 

รับรองว่าดุเด็ดเผ็ดมันไม่แพ้การ์ตูน ‘ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน’ แน่นอนค่ะ

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

bottom of page